สธ.ยันไม่มี ไข้เลือดออก สายพันธุ์ใหม่ เผยไทยมี 4 สายพันธุ์ ป่วยซ้ำได้อาการรุนแรงขึ้น

สธ.ยันไม่มี ไข้เลือดออก สายพันธุ์ใหม่ เผยไทยมี 4 สายพันธุ์ ป่วยซ้ำได้อาการรุนแรงขึ้น

 

สธ. ยันไม่มี ไข้เลือดออก สายพันธุ์ใหม่ ไทยระบาดแค่ 4 สายพันธุ์ สามารถเป็นซ้ำได้ 4 ครั้ง อาการจะรุนแรงขึ้น เผยสถานการณ์ป่วยพบกว่าแสนคนแล้ว แนะ ปชช. ร่วมกำจัดลูกน้ำยุงลาย

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณี ปอ ทฤษฎี สหวงษ์ ดารานักแสดงป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก และมีกระแสว่าเป็นไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ ว่า โรคไข้เลือดออกที่พบในไทยเกิดจากไวรัสเดงกี มี 4 สายพันธุ์ มียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีสายพันธุ์ใหม่ ส่วนการป้องกันโรคไข้เลือดออกนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด เพราะยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก แต่จากการประเมินสถานการณ์สัปดาห์ที่ผ่านมา แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยแต่ละ จังหวัดยังคงที่ มีบางพื้นที่ที่พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น ส่วนการตรวจประเมินลูกน้ำยุงลาย ยังพบว่า ภาชนะที่มีขังน้ำตามบ้านเรือน วัด และโรงเรียน มีลูกน้ำยุงลายและเกิดเป็นตัวยุง ได้กำชับให้สถานบริการและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องรณรงค์ให้ทุกหมู่บ้านร่วมกันกำจัดลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์ และป้องกันตัว เองไม่ให้ถูกยุงกัด

นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจะมีอาการไข้สูงลอย คลื่นไส้ อาเจียนเป็นเลือด เบื่ออาหาร หน้าแดง มีจุดเลือดที่ผิวหนัง เลือดกำเดาไหล มีเลือดออกตามไรฟัน ขอให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรคและ รักษา หากเป็นไข้เลือดออกแล้ว ช่วงระยะไข้ลดลงในวันที่ 3 – 4 ของการป่วย หากผู้ป่วยมีอาการซึมลง กินอาหารดื่มน้ำไม่ได้ อาจเข้าสู่ภาวะช็อก ต้องได้ รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันการเสียชีวิต ทั้งนี้ การติดเชื้อครั้งแรกอาการจะไม่รุนแรงมาก แต่การติดเชื้อครั้งที่สองที่ต่างสายพันธุ์จะทำให้เกิดอาการรุนแรง

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดี คร. กล่าวว่า สถานการณ์ในประเทศตั้งแต่ ม.ค.- พ.ย. 2558 พบผู้ป่วยไข้เลือดออก 102,000 ราย เสียชีวิต  102 ราย ถือว่าไข้เลือดออกระบาดหนัก แต่ไม่รุนแรงเท่าปี 2556 แต่หากพิจารณาในช่วง ต.ค.-พ.ย. พบป่วยมากขึ้นกว่าปีก่อน แต่ถือว่าผู้ป่วยเริ่มชะลอตัวลง โดยพบผู้ป่วยรายใหม่ 3,000 – 4,000 รายต่อสัปดาห์ จากช่วงที่มีการระบาดสูงสุดใน ส.ค. มีผู้ป่วย 7,000 รายต่อสัปดาห์ ทั้งนี้ ไข้เลือดออกเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง หากมีผู้ป่วย 1,000 ราย จะเสียชีวิต 1 ราย จาก 2 สาเหตุ คือ 1.ภาวะเลือดออก และ 2. เลือดรั่วจากเส้นเลือดและเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้

    “ ที่น่าสังเกตคือปีนี้อากาศร้อนค่อนข้างมาก ซึ่งเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสเดงกี บวกกับฝนตก ๆ หยุด ๆ ทำให้ลูกน้ำยุงลายมีปริมาณมาก และเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เมื่อมีฝนตกมากคนอยู่รวมกันหนาแน่น โอกาสที่จะแพร่ระบาดก็เพิ่มมากขึ้น เช่น นครราชสีมา เชียงใหม่ กทม. ซึ่งการป้องกันที่สำคัญที่สุดต้องกำจัดลูกน้ำยุงลาย เพราะลูกน้ำที่เกิดจากยุงลายที่มีเชื่อไข้เลือดออกก็จะมีเชื้ออยู่ในตัวเลย แต่ปัญหาคือเจ้าของบ้านไม่กำจัดทุกสัปดาห์ และไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่เข้าไปกำจัดให้ภายในบ้าน จึงทำได้แค่บริเวณท่อระบายน้ำ ซึ่งไม่ตรงจุด เพราะลูกน้ำตามท่อน้ำเป็นยุงรำคาญ ” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า ขอย้ำว่าไม่มีสายพันธุ์ใหม่ และความรุนแรงของทั้ง 4 สายพันธุ์ไม่ต่างกันมาก โดยแต่ละปีจะพบทั้ง 4 สายพันธุ์แบบวนเวียนกันไป บางปีสายพันธุ์ 2 อาจจะระบาดมากในภาคใต้ สายพันธุ์ 3 อาจจะระบาดมากในภาคเหนือ เป็นต้น ดังนั้น คนหนึ่งคนจะสามารถเป็นไข้เลือดออกได้ 4 ครั้ง แต่จะไม่ได้เกิดจากสายพันธุ์เดิม เนื่องจากร่างกายจะมีภูมิต้านทาน ทั้งนี้ การป่วยไข้เลือดออกครั้งแรกจะไม่ค่อยรุนแรงมาก แต่หากเป็นครั้งที่ 2 จะเกิดความรุนแรงมากขึ้น เลือดออก และช็อกได้ ส่วนการวินิจฉัยโรค ในช่วงแรกจะแยกจากอาการไข้ทั่วไปค่อนข้างยาก ต้องเจาะเลือดตรวจ ซึ่งหากป่วยเพียง 1-2 วัน การเจาะเลือดตรวจอาจจะไม่พบเชื้อ ต้องใช้เวลา 3 – 4 วัน แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยส่วนบุคคลด้วย การเจาะเลือดครั้งแรกจึงอาจไม่เจอเชื้อไข้เลือดออกก็ได้ ซึ่งการรักษายังไม่มียาเฉพาะ ต้องรักษาแบบประคับประคอง ส่วนวัคซีนยังอยู่ในขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียนยา ทั้งนี้ จากการสำรวจคนไทยรู้จักไข้เลือดออกกว่า 80% แต่มีส่วนร่วมในการป้องกันโรค กำจัดลูกน้ำยุงลายเพียง 20%

หมอเผย “ปอ ทฤษฎี” ป่วย ไข้เลือดออก สายพันธุ์ 2 ปริมาณไวรัสในร่างกายค่อนข้างสูง ชี้ เป็นการป่วยครั้งที่ 2 อาการจึงรุนแรง

   นพ.สุธี ยกส้าน ผู้ เชี่ยวชาญด้านการพัฒนา วัคซีนไข้เลือดออก จากศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ที่ผ่านมา โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ส่งตัวอย่างเลือดของ ปอ ทฤษฎี สหวงษ์ ดารานักแสดง เข้ามาตรวจหาสายพันธุ์เชื้อไวรัสไข้เลือดออก ที่ศูนย์ฯ ซึ่งผลการตรวจพบว่า เป็นเชื้อไวรัสเดงกีสายพันธุ์ที่ 2 ซึ่งความรุนแรง ไม่ได้มีความแตกต่างจากสายพันธุ์อื่น อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังพบปริมาณไวรัสในร่างกายค่อนข้างสูง อีกทั้งยังเป็นการป่วยครั้งที่ 2 จึงทำให้ผู้ป่วยยังมีอาการรุนแรง แต่จากการให้การรักษาของทางโรงพยาบาลรามาฯ ที่มีการระดมทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และวิธีการรักษาที่ดี ซึ่งตอนนี้ถือว่ายังมีความหวังในการรักษาผู้ป่วยรายดังกล่าว

ล่าสุด รพ.รามาธิบดี แถลงชี้แจงอาการป่วย “ปอ ทฤษฎี” ฉบับ 2

ความคืบหน้าอาการป่วยของ นายทฤษฎี สหวงษ์ (ปอ) ดังนี้
อาการโดยทั่วไปสามารถควบคุมอาการเลือดออกได้ แต่ยังต้องได้รับเลือด และส่วนประกอบของเลือดอยู่เป็นระยะ ส่วนภาวะไตวายเฉียบพลันยังคงที่ และยังต้องใช้เครื่องฟอกไตอยู่อย่างต่อเนื่อง

ในช่วงบ่ายของวันนี้ ผู้ป่วยยังคงมีความดันโลหิตต่ำเป็นระยะ ๆ ซึ่งต้องใช้เครื่องพยุงการทำงานของปอดและหัวใจ (Extracorporeal Membrane Oxygenator: ECMO)

ในขณะนี้ ผู้ปวยยังอยู่ในภาวะวิกฤต และยังต้องได้รับการเฝ้าระวังใน CCU อย่างต่อเนื่อง

        สธ. ชี้ ป่วย “ไข้เลือดออก” ซ้ำต่างสายพันธุ์ เสี่ยงอาการรุนแรง เผย ร่างกายบางคนกระตุ้นภูมิคุ้มกันรวดเร็วต่อเนื่อง เส้นเลือดรั่วสูญเสียสารน้ำ เกล็ดเลือด ร่างกายทรุดเร็วจนเกิดภาวะช็อก เช่น เคส “ปอ ทฤษฎี” มักพบในคนแข็งแรง ชี้ หากพ้นวิกฤตใน 48 ชั่วโมง อาการจะดีขึ้น

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การควบคุมโรคไข้เลือดออกต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน โดยเฉพาะนักเรียนที่ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดต้องช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุง ลาย ก็จะสามารถช่วยลดอุบัติการณ์ลงได้ ทั้งนี้ สธ. จะทำหนังสือประสานไปยังกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อขอให้เอาชั่วโมงลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ให้นักเรียนไปช่วยกันกำจัดลูก น้ำยุงลายในโรงเรียน

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า จากการสำรวจ พบว่า บ้านของคนไทยยังพบแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอยู่ 30% ในโรงเรียนพบมาก 40% ส่วนในวัดพบแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายมากถึง 60% การป้องกันและลดการเจ็บป่วยไข้เลือดออกทุกฝ่ายจึงต้องร่วมมือกันในการควบคุม โรค สำหรับโรคไข้เลือดออกนั้น เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี ในประเทศไทยมีอยู่ 4 สายพันธุ์ โดยทั้ง 4 สายพันธุ์ความรุนแรงของโรคไม่ต่างกัน แต่พบว่าเมื่อป่วยไข้เลือดออกจากสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งแล้ว เมื่อกลับมาป่วยโรคไข้เลือดออกอีกด้วยสายพันธุ์อื่นมักจะมีอาการรุนแรงขึ้น ซึ่งอาการรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น เนื่องจากร่างกายเรามีภูมิต้านทานที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกีอยู่ก่อนแล้ว อย่างเช่น กรณีของนักแสดงหนุ่มปอ ทฤษฎี สหวงษ์ ที่อาการรุนแรง เพราะภาวะภูมิต้านทานทำงานมากเกินไป ก็เพราะร่างกายตอบสนองต่อเชื้อไวรัสและกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นอย่าง รวดเร็ว

“ ตรงนี้เป็นกลไกของร่างกายที่เมื่อได้รับเชื้อเข้าไปแล้ว ภูมิคุ้มกันในเลือดก็จะไปจับสารไวรัส และกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายขึ้นมา ซึ่งบางคนกระบวนการนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและปฏิกิริยาของแต่ละบุคคลด้วย ทำให้เกิดการไปทำลายเซลล์อื่น ๆ ในร่างกาย หากเกิดที่หลอดเลือดก็จะทำให้สารน้ำรั่วออกจากเส้นเลือด ร่างกายจึงสูญเสียสารน้ำและเกล็ดเลือด ทำให้เกิดภาวะช็อกขึ้นได้ นอกจากนี้ หากไปเกิดที่อวัยวะอื่นก็จะทำให้ระบบอวัยวะนั้นเสียหาย ซึ่งเรื่องนี้ไม่สามารถคาดเดาได้ ถือว่าเป็นช่วงวิกฤตที่เกิดขึ้น 48 ชั่วโมง หากผ่าน 48 ชั่วโมงนี้ไปได้ ร่างกายก็จะฟื้นตัว เหลือเพียงการรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น ส่วนกรณีของนักแสดงหนุ่มนั้นไม่ทราบว่าเริ่มเกิดภาวะดังกล่าวในช่วงเวลาใด ” นพ.โอภาส กล่าวและว่า ภาวะเช่นนี้ถือว่าพบได้บ่อย อย่างอัตราการเสียชีวิตของไข้เลือดออกที่พบว่า ป่วย 1,000 ราย มักเสียชีวิต 1 รายนั้น ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ก็เป็นเพราะมีอาการรุนแรง และส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับคนที่แข็งแรง

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า  ข้อสังเกตของการเกิดโรคไข้เลือดออกในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า 1. กลุ่มอายุมีความเปลี่ยนแปลงไป ทำให้สามารถเป็นไข้เลือดออกได้ทุกกลุ่มวัยไม่เฉพาะเด็ก ซึ่งเมื่อเป็นกลุ่มวัยอื่นทำให้แพทย์ไม่ค่อยนึกถึงไข้เลือดออก แต่มีการย้ำ เตือนให้แพทย์ตระหนักถึงโรคไข้เลือดออกว่าเป็นโรคประจำถิ่น 2. น้ำหนักตัวที่ไม่สัมพันธ์กับอายุ ทำให้การวินิจฉัยไม่ชัดเจน รวมทั้งการรักษาที่ทำให้แพทย์ปรับขนาดยาได้ยากขึ้น 3. พื้นที่ในการระบาดของโรคที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทำให้บางครั้งประชาชนในพื้นที่ไม่ได้ตระหนักมากพอ และ 4. พบว่าบางคนป่วยมากกว่า 1 โรค พร้อมกัน เช่น ป่วยเป็นไข้หวัด พร้อมไข้เลือดออก ก็จะทำให้อากาของโรคแย่ลง

“สิ่งที่ต้องระวังคือในช่วงไข้ลง หากไข้ลงจากการที่อาการดีขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึก หิวอยากทานอาหาร หรือสดใสขึ้น แต่ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก มักจะไข้ลง ตัวเย็น แต่ซึมลง ไม่อยากอาหาร ซึ่งอาการดังกล่าวเป็นสัญญาณอันตรายว่าอาจเข้าสู่ภาวะช็อก ทั้งนี้ หากเกิดโรคในเด็กส่วนใหญ่พ่อแม่จะสังเกตได้เร็วเพราะเด็กจะซึมอย่างเห็นได้ ชัด แต่เมื่อเป็นผู้ใหญ่จะอดทนมากกว่าทำให้อาการของโรคดำเนินมาถึงจุดที่แย่ลง” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

ที่มา www.manager.co.th

ทรายกำจัดลูกน้ำ  สารเคมีกำจัดยุง